กรุงเทพมหานคร นอกจากจะมีสถานที่ให้ศึกษาทั้งเรื่องของแหล่งความรู้ แหล่งวัฒนธรรม เทคโนโลยีที่ทันสมัย ใครจะรู้บ้างว่า เมืองหลวงแห่งนี้ ยังมี พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (Museum of Contemporary Art) ซึ่งเป็น พิพิธภัณฑ์ที่เก็บบันทึกรวบรวมประวัติศาสตร์ทางศิลปะไทยที่น่าสนใจ โดยผลงานศิลปะที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ล้วนเกิดขึ้นจากแรงผลักดันของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ประติมากรชาวเมืองฟลอเรนช์ ประเทศอิตาลี ผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ ด้านศิลปะตะวันตก ตามหลักกายวิภาคศาสตร์ให้แก่ลูกศิษย์ อันก่อให้เกิดเป็นงานศิลปะร่วมสมัยไทย ที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ว่าประเทศไทยเป็นชาติที่มีอารยะ
งานศิลปะที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ขณะนี้ เป็นผลงานทัศนศิลป์ จากศิลปินหลายรุ่น ซึ่งทุกๆ ผลงานถือเป็นงานระดับชั้นครูทั้งสิ้น จะยืนหยัดได้ถึงความมุ่งมั่นของศิลปินไทย ในการคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ไทยอย่างเหนียวแน่น ตั้งแต่สมัยโบราณ ความรัก ศรัทธาและจงรักภักดีในสถาบันชาติ,ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ได้สะท้อนผ่านผลงานศิลปกรรมไทยหลากหลายรูปแบบ ศิลปะตามแบบแผนดั้งเดิมจึงเป็นศิลปะแนวประเพณีที่แสดงความงามตาม อุดมคติเพื่อให้คู่ควรกับสถาบันหลักที่คนไทยเทิดทูนอย่างสูงสุด
หากแต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป งานศิลปกรรม ก็มีการปรับเปลี่ยนตามไป ด้วยและบุคคลหนึ่งซึ่งมีบทบาทอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงรูปโฉมศิลปกรรม ในประเทศไทย คือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ประติมากรชาวอิตาเลียน ผู้วางหลักสูตรจิตรกรรมและประติมากรรมที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งได้ ยกระดับการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรในเวลาต่อมา ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้นำหลักปรัชญาที่ว่า “ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว” มาเผยแพร่ พร้อมกับหลักวิชา Academic Art ให้ลูกศิษย์ ได้ศึกษาเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะทางศิลปะให้ทัดเทียมนานาอารยะประเทศ จนได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งศิลปะไทยร่วมสมัย”
งานศิลปกรรมของศิลปิน ที่ได้รับอิทธิพลจากสิ่งที่ท่านศาสตราจารย์ศิลป์ได้วางรากฐานไว้ จึงเป็นผลงานที่ผสานความเชื่อ ความศรัทธาแบบดั้งเดิม เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยไว้อย่างลงตัว เปรียบดังกระจกบานใหญ่ ที่สะท้อนทั้งความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมของคนในชาติพุทธิปัญญาและความเป็นอารยะของชนชาติไทย ประวัติอันยาวนานและน่าสนใจ ของศิลปกรรมไทยทั้งหมดได้รับการรวบรวมไว้แล้ว ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ที่ซึ่งเกิดจาก “ความหลงใหลในงานศิลปะ” ของคุณบุญชัย เบญจรงคกุล แต่เหตุผลหลักที่ทำให้คุณบุญชัย เปิดพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยอย่างเป็นทางการ คือ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเพื่อเชิดชูเกียรติของ “บิดาแห่งศิลปะไทยร่วมสมัย” หรือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ได้แนวความคิดมาจากการนำหินทั้งก้อนมาแกะสลักอย่างประณีต บรรจงเป็นลายก้านมะลิ อันแสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ในขณะเดียวกันลายฉลุเหล่านี้ นอกจากจะทำให้แสงธรรมชาติ สามารถส่องลงมาในอาคารได้แล้ว แสงที่ส่องลงมาในช่วงเวลาและฤดูกาลที่แตกต่างกันยังให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันไปด้วย